การรักษาด้วยยา

การรักษาโดยการใช้ยาช่วย เป็นรูปแบบหนึ่งของการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสุรา โดยเป็นกระบวนการทางเภสัชบำบัด ที่ได้ผสมผสานเอาการให้คำปรึกษาและการปรับพฤติกรรมเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งการรวมเข้ากันของเทคนิคการบำบัดเหล่านี้ จะทำให้เกิดความครอบคลุมในการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสุรามากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะใช้กระบวนการทางคลินิกแล้ว ยังมีการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยแต่ละคนอีกด้วย

ยารักษาโรคติดสุราที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา มีอยู่ 3 ชนิด 4 ขนาน นั่นคือ ยา naltrexone (NTX) (ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย) ยา acamprosate (ACP) (ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย) ยา disulfiram (DSF)  และยาฉีดออกฤทธิ์ยาว คือ ยา extended-release injectable naltrexone (ERIN) (ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย) นอกจากนี้ยังมียารักษาโรคอื่นที่มีหลักฐานว่าสามารถรักษาการติดสุราได้ ที่นิยมใช้คือ ยา topiramate โดยยาต่างๆมีรายละเอียด ดังนี้

 

ยา naltrexone (NTX) แบบทาน ชื่อทางการค้า Revia / Depade 

กลไกการออกฤทธิ์ : ยาจะไปปิดกั้นตัวรับชนิดโอปิออยด์ (opioid receptors) ซึ่งมีผลทำให้สามารถลดความอยากดื่มและความพอใจจากการดื่มลง

ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในผู้ที่มีการใช้สารโอปิออยด์ (ฝิ่น มอร์ฟีน) หรืออยู่ระหว่างการถอนพิษโอปิออยด์ ผู้ที่มีภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน หรือตับวาย

ข้อควรระวัง : ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต มีประวัติการฆ่าตัวตาย หรือซึมเศร้า ถ้าต้องใช้ยาแก้ปวดชนิดโอปิออยด์ อาจต้องใช้ยาในขนาดที่สูง และเสี่ยงต่อการกดการหายใจมากและนาน

ผลข้างเคียง : ที่มักพบได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย และวิตกกังวล สำหรับผู้ที่ติดสารโอปิออยด์อาจทำให้เกิดอาการถอนยาอย่างรุนแรง

ขนาดยาที่ใช้รับประทาน : 50 มิลลิกรัม/วัน

 

ยา extended-release injectable naltrexone (ERIN) ชื่อทางการค้า Vivitrol 

กลไกการออกฤทธิ์ : เช่นเดียวกับยา naltrexone แต่สามารถออกฤทธิ์ได้นาน 30 วัน

ข้อห้ามใช้ : เช่นเดียวกับยา naltrexone ร่วมไปกับผู้ที่มีกล้ามเนื้อน้อยเกินกว่าที่จะให้ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบลึก

ข้อควรระวัง : เช่นเดียวกับยา naltrexone ร่วมไปกับผู้ที่เป็นโรคฮีโมฟีเลีย (hemophilia) หรือโรคที่เกี่ยวกับการเลือดออก

ผลข้างเคียง : เช่นเดียวกับยา naltrexone ร่วมไปกับการอักเสบบริเวณที่ฉีดยา ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นตะคริว

ขนาดยาที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ : 380 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อสะโพกลึกๆเดือนละครั้ง

 

ยา acamprosate (ACP) ชื่อทางการค้า Campral   

กลไกการออกฤทธิ์ : ยาจะไปออกฤทธิ์กับระบบสารสื่อประสาทชนิดกลูตาเมท (glutamate) และ GABA แต่ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสุรา

ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะของไตวายรุนแรง

ข้อควรระวัง : ควรระวังในผู้ที่มีภาวะไตวายปานกลาง ผู้ที่มีพฤติกรรมซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย

ผลข้างเคียง : ที่พบบ่อยได้แก่ อาการท้องเดิน และง่วงนอน ผลข้างเคียงที่รุนแรงได้แก่ มีความคิดหรือพฤติกรรมฆ่าตัวตาย แต่มักพบได้น้อย

ขนาดยาที่ใช้รับประทาน : วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 เม็ด (ขนาดเม็ดละ 333 มิลลิกรัม) แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่องให้ลดขนาดลงเหลือวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด

ยา disulfiram (DSF)  ชื่อทางการค้า Antabuse 

กลไกการออกฤทธิ์ : ยาจะไปยับยั้งการสลายแอลกอฮอล์ ทำให้ระดับ acetaldehyde ในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการวูบวาบ เหงื่อออก คลื่นไส้ และหัวใจเต้นเร็ว เมื่อผู้ป่วยดื่มสุรา

ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในช่วงที่ดื่มสุรา หรือมีสารที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบอยู่ในร่างกาย ห้ามใช้ในผู้ที่ทานยา metronni dazole ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจรุนแรง ผู้ที่แพ้อนุพันธ์ของยาง

ข้อควรระวัง : สำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง ตับวาย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคที่ทำให้สมองเสียหาย โรคจิต โรคเบาหวาน โรคลมชัก โรคไทรอยด์ทำงานต่ำ ไตบกพร่อง แนะนำให้มีบัตรเพื่อแจ้งการใช้ยานี้กับบุคลากรทางการแพทย์เมื่อต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน

ผลข้างเคียง : ที่พบบ่อยได้แก่ ความรู้สึกว่ามีรสปะแล่มในปาก เกิดผื่นที่ผิวหนัง ง่วงนอนชั่วคราว ส่วนผู้ที่ดื่มสุราขณะที่ทานยานี้ จะเกิดภาวะเป็นพิษ ได้แก่ เกิดผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด และหมดสติได้

ขนาดยาที่ใช้รับประทาน : วันละ 250 มิลลิกรัม

 

ยา topiramate ชื่อทางการค้า Topamax

กลไกการออกฤทธิ์ : เชื่อว่าออกฤทธิ์โดยเพิ่มการทำงานของระบบสารสื่อประสาทชนิด GABA และลดการทำงานของระบบสารสื่อประสาทชนิดกลูตาเมท (glutamate)

ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้

ข้อควรระวัง : ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีนิ่วที่ไต ตับหรือไตบกพร่อง น้ำหนักตัวน้อยมาก

ผลข้างเคียง : ที่พบบ่อยได้แก่ มือเท้าชา รสชาติอาหารเปลี่ยนไป เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ง่วงนอน และเสียเชาวน์ปัญญาเล็กน้อย

ขนาดยาที่ใช้รับประทาน : วันละ 250 มิลลิกรัม

 

หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย โทรมาคุยกับเราได้ที่ สายด่วน 1413 ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์

 

อ้างอิง

มานิต ศรีสุรภานนท์. (2552). การใช้ยาในการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา. เชียงใหม่: พิมพ์เดือนดี.

Medication-Assisted Treatment (MAT). (2010). Retrieved December 11, 2011, from http://www.alcoholanswers.org/treatment-options/medication-assisted-treatment.cfm




ขออนุญาติรบกวนเวลาของท่าน
ทำแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจ
ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า




สถานบำบัด

ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) (ภายใต้คณะแพทยศาสตร์)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่อยู่ อาคารจุฬาพัฒน์ 14
254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ติดต่อประสานงาน
คุณ สุชาครีย์ พิบูลธรรมศักดิ์

โทรศัพท์ : 0830872879, มือถือ : , โทรสาร : อีเมล์ : 1413alcoholhelpcenter@gmail.com, เว็บไซต์ www.1413.in.th