สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการพบแพทย์

การหยุดดื่มโดยการพบแพทย์ เหมาะสำหรับผู้ดื่มที่มีประวัติอาการถอนพิษสุราที่รุนแรงหลังหยุดดื่มสุรา หรือหยุดดื่มแล้วมีอาการถอนพิษสุรารุนแรง เช่น อาการชัก กระสับกระส่ายอย่างรุนแรง สมองสับสน หูแว่ว ประสาทหลอน รวมถึงผู้ที่เคยเลิกสุรามาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และผู้ที่ต้องการหยุดดื่มแต่ไม่ต้องการทรมานจากการหยุดดื่ม

การหยุดดื่มโดยการพบแพทย์นี้ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ติดสุราประสบความสำเร็จในการหยุดดื่มได้มากขึ้น  สมองมีโอกาสฟื้นตัว อาการต่างๆของการเสพติดก็จะทุเลาลง ที่สำคัญเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด และไม่ทรมาน ทำให้ทานอาหารได้ดีขึ้น นอนหลับได้ดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น  และสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ โดยแพทย์จะทำการตรวจประเมินระดับปัญหาการดื่ม ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอาการถอนพิษสุรา และช่วยเหลือให้สามารถผ่านพ้นช่วงที่ถอนพิษสุราไปได้อย่างปลอดภัย ไม่ทรมาน เสร็จแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาทางจิตใจ และการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ป่วยสามารถหยุดดื่มได้อย่างถาวรต่อไป

โดยผู้ติดสุราที่ต้องการเข้ารับบริการสุขภาพ หรือพบแพทย์ ควรศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องดังต่อไปนี้        

  1. แผนกที่ช่วยเหลือเรื่องการบำบัดผู้ติดสุรา  แผนกดังกล่าวก็คือแผนกจิตเวช หรือแผนกอื่นๆที่รับบำบัดรักษา เช่น เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกยาเสพติด หรือศูนย์ซับน้ำตา เป็นต้น  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถช่วยเหลือเกี่ยวกับการเลิกสุราได้โดยตรง คือ จิตแพทย์
  2. สถานบำบัดที่ทำการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา  ผู้ติดสุราสามารถเข้ารับบริการได้ตามศูนย์บำบัดสุราและสารเสพติดตามภูมิภาคต่างๆ สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลของรัฐที่มีแผนกจิตเวช หรือแผนกยาเสพติด ซึ่งโดยทั่วไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดโดยส่วนใหญ่จะมีจิตแพทย์คอยให้ความช่วยเหลืออยู่
  3. เอกสารที่ต้องเตรียมไป ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวผู้ป่วย บัตรแสดงสิทธิการรักษา (เช่น บัตรทอง บัตรประกันสังคม เป็นต้น)
  4. สิทธิการรักษา  ผู้ติดสุราสามารถขอใช้สิทธิการรักษาเพื่อขอเบิกจ่าย หรือลดหย่อนค่ารักษาพยาบาล ตามสิทธิการรักษาที่ตนมีได้ เช่น  สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบการใช้สิทธิ์ได้โดยสอบถามจากทางโรงพยาบาลที่ต้องการเข้าบำบัดรักษา

ในกรณีที่ต้องการขอทำบัตรทอง หรือขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ (อันเนื่องมาจากหน่วยงานประจำที่เคยใช้สิทธิไม่มีการบำบัดรักษาเพื่อเลิกสุรา) สามารถติดต่อได้ที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลของรัฐ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยมีหลักฐาน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด) และแบบคำร้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า/ขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ

ขั้นตอนการพบแพทย์ 

  1. เตรียมเอกสารที่ต้องใช้ติดต่อกับทางโรงพยาบาลให้ครบถ้วน
  2. ไปยังสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลที่มีการบำบัดรักษาเพื่อเลิกสุรา
  3. ติดต่อทางเคาน์เตอร์ที่ทำบัตร หรือแผนกเวชระเบียนผู้ป่วยนอก (OPD) ว่าต้องการมารับการบำบัดรักษาเพื่อเลิกสุรา โดยอาจเน้นว่าต้องการรับการรักษา หรือขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์)
  4. ทางโรงพยาบาลจะส่งไปที่แผนกจิตเวช หรือแผนกอื่นๆที่รับบำบัดรักษา
  5. เมื่อพบแพทย์แล้วให้เล่ารายละเอียดต่างๆของพฤติกรรมการดื่ม อาการต่างๆ ฯลฯ โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่แพทย์ เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัย และบำบัดรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  6. หากผู้ป่วยยังไม่ไปพบแพทย์ ญาติสามารถไปรับคำปรึกษาก่อนได้ 

 

 

หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย โทรมาคุยกับเราได้ที่ สายด่วน 1413 ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์ 

 

อ้างอิง 

เบญจพร ปัญญายง. (2553). การปฐมพยาบาลผู้ดื่มสุรา. เชียงใหม่: พิมพ์เดือนดี.




ขออนุญาติรบกวนเวลาของท่าน
ทำแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจ
ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า




สถานบำบัด

ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) (ภายใต้คณะแพทยศาสตร์)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่อยู่ อาคารจุฬาพัฒน์ 14
254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ติดต่อประสานงาน
คุณ สุชาครีย์ พิบูลธรรมศักดิ์

โทรศัพท์ : 0830872879, มือถือ : , โทรสาร : อีเมล์ : 1413alcoholhelpcenter@gmail.com, เว็บไซต์ www.1413.in.th