วิธีช่วยลูกให้เลิกเหล้า

วัยรุ่น คือ ผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 12-21 ปี เป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม จึงไม่แปลกที่วัยรุ่นจะเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่างๆได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านพฤติกรรม เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบลองผิดลองถูก ให้ความสำคัญกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ยาก (โดยเฉพาะวัยรุ่นตอนต้น) จึงมักเรียกกันว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งพ่อแม่และผู้ปกครองจำเป็นต้องใส่ใจในพฤติกรรมต่างๆของวัยรุ่นอย่างใกล้ชิด

ปัญหาพฤติกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มักพบในวัยรุ่นคือ ปัญหาการดื่มสุรา ซึ่งก็มักจะส่งผลกระทบอื่นๆตามมาในหลายด้าน เช่น ส่งผลต่อเรื่องการเรียน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อาชญากรรม การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น การดื่มสุราจึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะหากเกิดกับลูกหลานของคุณ แต่การจะพูดคุยกับวัยรุ่นให้เลิกสุรานั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนัก เพราะอารมณ์วัยรุ่นไม่คงที่ ชอบท้าทาย ยิ่งถ้าหากบรรยากาศในครอบครัวไม่ดีด้วยแล้ว ก็อาจอาจทำให้วัยรุ่นยิ่งถอยห่างออกไปจากพ่อแม่มากยิ่งขึ้น

เทคนิคหรือวิธีการที่จะพูดคุยกับลูก โดยเฉพาะวัยรุ่นให้เลิกสุรามีดังนี้

1. เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกในการไม่ดื่มสุรา ดังคำที่ว่า &ldquoการกระทำสำคัญกว่าคำพูด&rdquo

2. ทำความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม ของวัยรุ่น

3. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคสมองติดสุรา ปริมาณการดื่มที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย โรคที่เกิดจากการดื่มสุรา ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุยกับลูกได้ง่ายขึ้น

4. เปิดอกคุยกับลูก เรื่องสุราว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยไม่ครอบงำ หรือบังคับจิตใจแต่เป็นการอธิบายเรื่อง ประโยชน์-โทษ และให้ลูกได้คิด หาทางป้องกัน หรือยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้นร่วมกัน

5. ในกรณีที่จะลูกลดปริมาณการดื่ม ให้ตกลงเรื่องปริมาณการดื่ม วัน เวลา เป็นต้น (แต่อย่างไรก็ตามการลดปริมาณก็ยังถือว่าเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆอยู่ การหยุดดื่มเป็นวิธีการที่ดีที่สุดโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ติดสุรา)

6. ทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัวอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง

7. พูดกับลูกด้วยน้ำเสียงอบอุ่น แววตาอ่อนโยน &ldquoไม่ควรดุ ด่า ห้ามกระทำการลงโทษที่รุนแรง&rdquo

8. ให้พาเพื่อนมาแนะนำให้ครอบครัวรู้จัก

9. ไม่บังคับให้เลิกสุราด้วยตนเอง เนื่องจากการที่สมองติดสุราหรือหากเกิดโรคติดสุรา การเลิกสุราด้วยตนเองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ดังนั้นคุณจึงควรพาลูกไปตรวจประเมินว่าเข้าข่ายติดสุราแล้วหรือยัง มีโรคประจำตัวหรือไม่ โดยการชวนไปตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรพูดว่า "จะพาไปเลิกสุรา" แต่ควรพูดในเชิงที่ว่า "อยากเห็นลูกสุขภาพดี ไปตรวจสุขภาพประจำปีกัน" โดยแพทย์จะนำผลตรวจมาช่วยจูงใจบุตรหลานให้เลิกดื่มด้วยอีกทางหนึ่ง

10. กรณีที่ลูกไม่ยอมให้ความร่วมมือ คุณสามารถไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก่อนได้

 

หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย โทรมาคุยกับเราได้ที่ สายด่วน 1413 ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์ 

 

อ้างอิง 

แผนงานพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา. (ม.ป.ป.). คุยกับลูกเรื่องเหล้า. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

พนม เกตุมาน. (2550). พัฒนาการวัยรุ่น. ค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2554, จาก http://www.psyclin.co.th/new_page_56.htm

13 วิธี เข้าถึงลูกวัยรุ่น. (ม.ป.ป.). ค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2554, จาก http://www.kroobannok.com/blog/2540

อุบลรัตน์ เพ็งสถิต. (2552). จิตวิทยาพัฒนาการ Developmental Psychology PC290. ม.ป.ท.: มหาวิทยาลัยรามคำแหง

MrthaiHP. (10 พฤศจิกายน 2554). เทคนิคการคุยกับลูกวัยรุ่นตอน5 1/2 [วิดีโอ]. จาก http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=OxRX2p4cg4g

MrthaiHP. (10 พฤศจิกายน 2554). เทคนิคการคุยกับลูกวัยรุ่นตอน5 2/2 [วิดีโอ]. จาก http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=YwKnPJVRLys




ขออนุญาติรบกวนเวลาของท่าน
ทำแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจ
ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า




สถานบำบัด

ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) (ภายใต้คณะแพทยศาสตร์)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่อยู่ อาคารจุฬาพัฒน์ 14
254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ติดต่อประสานงาน
คุณ สุชาครีย์ พิบูลธรรมศักดิ์

โทรศัพท์ : 0830872879, มือถือ : , โทรสาร : อีเมล์ : 1413alcoholhelpcenter@gmail.com, เว็บไซต์ www.1413.in.th